1. พิจารณาระหว่างธนาคารเดิมกับธนาคารใหม่
หากใครที่กำลังลังเลว่าอยากให้ลดดอกเบี้ยลง แต่ไม่อยากเปลี่ยนธนาคาร คุณสามารถทำได้โดยติดต่อธนาคารเพื่อลดดอกเบี้ยให้ (Retention) ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเปรียบเทียบคือ ค่าธรรมเนียมในการรีไฟแนนซ์ และดอกเบี้ยที่ธนาคารใหม่เสนอให้
โดยข้อดีในการลดดอกเบี้ย คือ ไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการ ลดค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ แต่ข้อเสีย คือ ส่วนใหญ่แล้วดอกเบี้ยที่ได้ลดจะน้อยกว่าธนาคารใหม่ที่เสนอให้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ขอสินเชื่อว่าต้องการแบบไหน
2. ตรวจสอบสัญญาการกู้
สำหรับใครที่ตัดสินใจรีไฟแนนซ์ สิ่งต่อมาที่ต้องทำ คือ การตรวจสอบสัญญาว่า กำหนดการที่สามารถให้รีไฟแนนซ์ได้เมื่อไร โดยส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์ได้หลังผ่อนชำระครบ 3 ปี แต่หากต้องการรีไฟแนนซ์ก่อน ทางผู้กู้จะต้องชำระค่าปรับให้กับทางธนาคาร
3. ตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้คงเหลือ
การตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้คงเหลือ สามารถทำได้ผ่านการติดต่อกับสถาบันทางเงินเดิมเพื่อสรุปยอดหนี้สินในการผ่อนชำระ โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเลือกธนาคารใหม่ ผ่านการนำยอดหนี้ที่คงเหลือไปคำนวณกับข้อเสนอที่ธนาคารมอบให้
4. มองหาธนาคารที่เหมาะสม
หลังจากทราบข้อมูลแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การมองหาธนาคารใหม่ที่เหมาะสมในการรีไฟแนนซ์บ้าน โดยพิจารณาจากข้อเสนอ ทั้งในเรื่องของดอกเบี้ยและระยะเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีโปรโมชั่นให้เลือกมากมาย
5. เตรียมเอกสารให้พร้อม
สำหรับการรีไฟแนนซ์มีเอกสารหลายส่วนที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการทำสัญญา เพราะการรีไฟแนนซ์จะคล้ายกับการยื่นกู้ซื้อบ้านใหม่อีกรอบ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและทะเบียนสมรส เป็นต้น
- เอกสารแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น
- เอกสารหลักประกัน เช่น โฉนดที่ดินและสัญญาเงินกู้จากธนาคารเดิม เป็นต้น
6. ยื่นขอสินเชื่อสำหรับการรีไฟแนนซ์
หลังเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอสินเชื่อสามารถเข้าไปขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้ โดยเมื่อธนาคารรับเรื่องแล้วจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินราคาหลักประกันเพื่อประกอบการอนุมัติ และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วทางธนาคารจะติดต่อกับธนาคารเดิมเพื่อสอบถามหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอนต่อไป
7. เตรียมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
เมื่อธนาคารแห่งใหม่อนุมัติสินเชื่อแล้ว ลำดับต่อมาที่ผู้ขอสินเชื่อต้องเตรียม คือ การเตรียมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์จะน้อยกว่าการซื้อบ้านแบบปกติ โดยค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- ค่าประเมินราคา ประมาณ 2-3 พัน ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของธนาคาร
- ค่าจดจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้
- ค่าประกันอัคคีภัย
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน (ไม่เกิน 10,000 บาท)
- ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร
8. ทำสัญญาและจดจำนองที่กรมที่ดิน
สำหรับการทำสัญญา ทางธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ถือสัญญาไปให้เซ็นที่กรมที่ดิน พร้อมกับการทำสัญญาจดจำนองในวันเดียวกัน หลังทำสัญญาและจดจำนองเรียบร้อยแล้ว ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรีไฟแนนซ์
สรุป
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านมีด้วยกัน 8 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบสัญญาการกู้ การเลือกธนาคารไปจนถึงการยื่นสินเชื่อสำหรับการรีไฟแนนซ์ ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน ผู้ขอสินเชื่อควรศึกษาและหาธนาคารที่เหมาะสมที่สุด เพราะแต่ละธนาคารจะมีโปรโมชั่นที่แตกต่างกัน
Credit:https://www.krungsri.com/